3D, AR และ VR

3D, AR และ VR

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เทรนด์ของการรับชมความบันเทิงนั้นโฟกัสไปที่เทคโนโลยีที่มีความสอดคล้องกันอย่าง 3D Video, Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR) โดยในช่วงครึ่งแรกของทศวรรษ รูปแบบ 3D ถือเป็นพระเอกหลักที่หันไปทางไหนก็เจอ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนต์สามมิติหรือทีวีสามมิติที่โหมโฆษณากันเต็มไปหมด แม้ว่าจะไม่ค่อยสะดวกเพราะต้องสวมแว่นตาเพื่อรับชมคอนเทนต์ต่างๆ แต่สุดท้ายมันก็ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี และภาพยนต์สามมิติก็กลายเป็นมาตรฐานใหม่ที่เราเห็นกันอยู่ในโรงภาพยนตร์ปัจจุบัน แต่สำหรับทีวีสามมิตินั้นค่อนข้างสวนทางกัน เพราะการนั่งใส่แว่นตาสามมิติดูจอภาพขนาดไม่ใหญ่มาก ทำให้อรรถรสของการรับชมนั้นหมดไป และคนก็เลิกใช้ในที่สุด

ต่อมา เทคโนโลยี VR ก็ออกสู่โลกของการเล่นเกมหรือรับชมคอนเทนต์ มันทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกเหมือนหลุดเข้าไปในโลกดิจิทัลอีกใบที่ถูกสร้างขึ้นมา บริษัทใหญ่ๆ อย่าง Sony หรือ Facebook ก็ผลิตเฮดเซ็ตเป็นของตัวเองเพื่อให้ผู้บริโภคได้เลือกใช้โดยเฉพาะเหล่าคอเกม ในส่วนของสมาร์ตโฟนก็ไม่น้อยหน้า เราเห็น Google ที่ใช้กระดาษแข็งและเลนส์ร่วมกับสมาร์ตโฟน (https://arvr.google.com/cardboard/) เพื่อให้ลูกค้าได้ใช้ VR ในราคาที่ถูกลง

หลังจากนั้น เทคโนโลยี AR ก็ได้เข้ามามีบทบาทโดยเป็นการเอาดิจิทัลคอนเทนต์มาแปะทับซ้อนบนโลกความจริง ยกตัวอย่าง เกม Pokemon Go ที่ได้รับความนิยมอย่างมากอยู่พักหนึ่ง โดยในช่วงสามปีแรกหลังจากเปิดตัวมียอดดาวน์โหลดกว่า 1 พันล้านครั้งเลยทีเดียว (ทั้ง iOS และ Android) ผู้เล่นต้องจับมอนสเตอร์โดยต้องเดินไปตามสถานที่ต่างๆ เสมือนว่าตัวมอนสเตอร์เหล่านั้นอยู่ตรงหน้าเราจริงๆ

อันที่จริงแล้วเทคโนโลยี AR ไม่ได้จำกัดแค่ในเรื่องของความบันเทิงเท่านั้น มันยังถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมและธุรกิจอื่นๆ ด้วย เช่น Google Maps ที่ใช้เทคโนโลยี AR เข้ามาช่วย เมื่อผู้ใช้งานยกสมาร์ตโฟนขึ้นมา เขาสามารถมองเห็นรายละเอียดร้านค้าต่างๆ โผล่ขึ้นมาทับซ้อนกับภาพบนหน้าจอได้เลย

(https://www.pocket-lint.com/apps/news/google/147956-what-is-google-maps-ar-navigation-and-how-do-you-use-it)